• Line: @thehrconsult
  • 02-821-5354
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

รู้จัก Value Proposition การสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

ก่อนที่เราจะเริ่มทำธุรกิจ เริ่มทำการขาย เริ่มทำการตลาด หรือแม้แต่การผลิตสินค้า เราก็ต้องหยุดคิดกันก่อนว่าลูกค้าจะได้อะไร หรือในภาษาธุรกิจก็คือมี Value Proposition อะไรบ้าง ซึ่งในยุคที่ทุกคนบอกว่าธุรกิจต้องแตกต่าง การมี Value Proposition ที่ไม่เหมือนใครก็คงเป็นข้อได้เปรียบสูงสุดของธุรกิจแล้ว ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า Value Proposition คืออะไร มีตัวอย่างอะไรบ้าง มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง และที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะสร้าง Value Proposition ได้อย่างไร

Value Proposition คืออะไร
Value Proposition หรือ ข้อเสนอที่มีคุณค่า หมายถึงข้อเสนอที่บริษัทให้กับลูกค้าผ่านการขายสินค้าและการให้บริการ โดยแผนการตลาดและแผนการขายก็ควรคำนึงถึง Value Proposition ขององค์กรด้วย ประโยชน์ของ Value Proposition คือการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าปัญหาของลูกค้าจะถูกแก้ไขผ่านคุณค่าต่างๆ

อธิบายง่ายๆก็คือ ลูกค้าแต่ละคนซื้อของก็เพราะว่ามีปัญหาที่ต้องการถูกแก้ไข อาจจะเป็นอะไรง่ายๆเช่นหิวน้ำ หรืออาจจะเป็นอะไรซับซ้อนเช่นอยากวางแผนการลงทุนเพื่อเกษียณ ซึ่งการที่องค์กรจะแก้ปัญหาเหล่านี้ องค์กรก็ต้องมีสินค้าหรือบริการที่สามารถ ‘ให้คุณค่า’ กับลูกค้าได้

แต่เราจะเห็นได้บ่อยๆว่า ‘ปัญหาของลูกค้า’ หนึ่งอย่างอาจจะมีวิธีการแก้ปัญหาหลายอย่าง เช่นหากลูกค้าอยากจะเดินทาง ลูกค้าก็อาจจะขับรถ นั่งมอเตอร์ไซค์ นั่งแท็กซี่ นั่ง BTS หรือว่าอาจจะเรียก Grab ก็ได้

โดยลูกค้าแต่ละคนก็มีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน บางคนไม่อยากเสียเงินเยอะก็คงนั่งรถเมล์ บางคนอยากรีบไปให้เร็วก็คงนั่งมอเตอร์ไซค์ หรือบางคนไม่ชอบร้อนก็อาจจะเลือกขับรถ ปัจจัยในการตัดสินใจของลูกค้านั้นมีมากมายและสามารถถูก ‘จัดหมวดหมู่’ ให้เป็น ‘กลุ่มลูกค้า’ หรือกลุ่มเป้าหมายหลักของบริษัทก็ได้

หมายความว่า ในยุคสมัยนี้ที่ลูกค้ามีตัวเลือกมาก ธุรกิจก็จำเป็นที่จะต้องปรับ Value Proposition ให้มีความแตกต่าง หรือเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าหลักเฉพาะของตัวเองมากขึ้น

ในส่วนถัดไปเราไม่ดูตัวอย่างของ Value Proposition จากแบรนด์ที่เรารู้จักกันดีกัน ว่าแต่ละแบรนด์สร้างคุณค่าให้กับลูกค้าได้ยังไงให้แตกต่างกับแบรนด์อื่น

ตัวอย่างของ Value Proposition
MK – อาหารครอบครัว ที่สามารถทานซ้ำได้บ่อย (มีอาหารหลายอย่าง มาซ้ำก็ทานได้หลายอย่าง) สังเกตุได้ว่าปัญหาของคนที่มากันกลุ่มใหญ่ก็คือ คิดไม่ออกว่าจะ ‘กินอะไร’

Grab – ความเร็วในการเรียกแท็กซี่ และ การที่แท็กซี่ไม่ปฏิเสธลูกค้า ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ทุกคนมีอยู่นานแล้ว แต่อุตสาหกรรมนี้เข้าได้ยากเพราะมีรัฐคอยควบคุม

Apple’s iPhone – ในสมัยแรกก็คือเรื่องของนวัตกรรม ความใหม่ที่ไม่มีใครลอกได้ แต่ในสมัยนี้คือ ‘ecosystem‘ และความง่ายในการใช้งาน เหมาะสำหรับคนที่ไม่เก่งไอทีที่ต้องการใช้อุปกรณ์ Apple หลายๆอย่าง

Jone Salad – การให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย (ส่วนการขายอาหารเป็นเรื่องรอง แต่ก็ได้ผลตอบรับดีมาก)

Cafe Amazon – หาร้านได้ง่าย ราคาไม่ถูกมาก แต่ก็ไม่ได้แพงเกินเอื้อม ไม่ได้ขายคอกาแฟอย่างร้านดังๆแต่ขายคนที่ชอบเดินทางไปหลายที่ (กลุ่มลูกค้าตลาดกว้าง)



ถ้าถามว่าเราจะสังเกต Value Proposition ของแต่ละแบรนด์ได้ยังไง คำตอบง่ายๆก็คือให้ลองเปรียบเทียบโฆษณาของแต่ละแบรนด์ดู ซึ่งคุณก็สามารถหาโฆษณาดูได้ตาม Youtube ของช่องแบรนด์นั้น

จุดแรกก็คือเรื่องของ ‘ข้อความ’ ซึ่งก็จะตรงไปตรงมาว่าแบรนด์นี้ขายอะไร สินค้าหรือบริการทำอะไรได้บ้าง ให้สังเกต ‘คำอธิบาย’ ที่ตามมาหลังสินค้าดู เช่น ‘คิดจะพัก คิดถึงคิทแคท’ หรือ ‘โค้กซ่า’

อีกหนึ่งจุดที่สามารถสังเกตได้ก็คือ ‘คนในโฆษณา’ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นนักแสดงที่ถูกคัดมาให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายของลูกค้า อย่างในโฆษณาแบรนด์ MK เราก็จะเห็น ‘ครอบครัว’ ที่เข้ามาทานอาหารด้วยกัน หรือนักแสดงในโฆษณาคาราบาวแดง ก็จะเป็นอีกแบบ

แต่บางครั้งเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายธุรกิจมี Value Proposition คล้ายๆกัน ดูตัวอย่างง่ายๆก็คือธนาคารหลากสี ที่มีบริการเหมือนกันหมด เพียงแต่ว่าบางธุรกิจสามารถสื่อสารจุดขายนี้ให้กับลูกค้าได้ดีกว่า (ผ่านทางการทำโฆษณาและสื่อต่างๆ เช่น social media) ก็เลยทำให้คนสามารถจดจำบางธุรกิจได้ดีกว่า ทั้งๆที่สินค้าเหมือนกัน

แน่นอนว่า ‘จุดขาย’ (หรือที่เรียกว่า Positioning หรือตำแหน่งตลาด) ที่แต่ละแบรนด์โฆษณาไว้อาจจะไม่ใช่ Value Proposition ที่แท้จริง ซึ่งในส่วนนี้เราก็ต้องหาวิธีวิจัยเพิ่มเติมอีกที โดยวิธีที่ดีที่สุดก็คือการสัมภาษณ์ลูกค้าของแต่ละแบรนด์ว่า ‘ซื้อเพราะอะไร’

แบรนด์กับสโลแกนไม่ได้จำเป็นต้องเหมือน Value Proposition เสมอไป

ข้อดีของการมี Value Proposition
1.การมี Value Proposition ก็คือการมีจุดขายที่ดี – หมายความว่าหากเราไม่รู้ว่าสินค้าของเราสามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างไรบ้าง เราก็ไม่สามารถขายได้ ลูกค้าส่วนมากรู้อยู่แล้วว่าตัวเองมีปัญหาอะไร และต้องการแก้ปัญหาอย่างไร เพราะฉะนั้น Value Proposition ที่ดีก็จะตอบโจทย์ลูกค้าได้ (นอกจากนั้น ลูกค้าเหล่านี้ยังซื้อง่าย ซื้อเร็วอีกด้วย ขอแค่สินค้าเราตอบโจทย์ตรงปัญหา)

2.พนักงานจะรู้ว่าทำงานเพื่ออะไร – อีกหนึ่งปัญหาที่ธุรกิจเจอบ่อยก็คือตัวพนักงานเองก็ไม่รู้ว่าสินค้าของบริษัทนี้ดีอย่างไร แตกต่างอย่างไรกับคู่แข่ง ซึ่งแน่นอนว่าพนักงานเหล่านี้ก็คงไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สามารถตัดสินใจอะไรเองได้เร็ว (เพราะไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่องค์กรอยากได้กันแน่)

3.ความง่ายในการสื่อสาร ทั้งในและนอกองค์กร – ความง่ายในการสื่อสารเป็นเรื่องของทั้งความชัดเจนในการสื่อสารกับลูกค้า และความรวดเร็วของการทำงานในองค์กร เพราะเมื่อลูกค้าและพนักงานเข้าใจตรงกันว่าองค์กรทำอะไร กระบวนการทุกอย่างก็จะเรียบง่ายมากขึ้น

4.เรียกลูกค้าที่ต้องการเราจริงๆ (ลดการเสียเวลา) – ในส่วนนี้จะเป็นเรื่องของคุณภาพของลูกค้า ลูกค้าที่ไม่เข้าใจ Value Proposition ของคุณก็จะต่อราคาเยอะ ถามบ่อย คิดนาน แถมบางครั้งก็ไม่ซื้อ ในส่วนนี้หากเรามี Value Proposition ที่ชัดเจน เราก็สามารถลดปัญหาด้านนี้ไปได้ ถือว่าเป็นการกรองลูกค้าในตัว

5.สร้างความแตกต่างที่คู่แข่งทำไม่ได้ – สุดท้ายแล้วธุรกิจก็ควรจะแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งเราก็สามารถทำได้ง่ายผ่าน Value Proposition อาจจะไม่ใช่ความแตกต่างจากคู่แข่ง ‘โดยสิ้นเชิง’ แต่เป็นการนำเสนอในรูปแบบหรือมุมมองที่คู่แข่งไม่ได้ให้ความสำคัญมากเพื่อให้ธุรกิจเราแตกต่างอย่างมีคุณค่า

ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะบอกว่า Value Proposition ไม่เหมือนแบรนด์ก็ตาม แต่ Value Proposition ที่ถูกสื่อสารให้กับลูกค้าและพนักงานอย่างถูกต้องนั้นก็คือแบรนด์อย่างหนึ่งเหมือนกัน ในส่วนนี้คุณสามารถลองอ่านบทความของผมเพิ่มเติมเรื่องการสร้างแบรนด์ได้ จะเห็นว่า ‘ข้อดี’ หลายๆอย่างเหมือนกันเลย

วิธีการสร้าง Value Proposition สำหรับสินค้าของคุณ
1.หากลุ่มลูกค้าหลักและความต้องการของกลุ่มลูกค้า
ในส่วนนี้เป็นหลักการตลาดพื้นฐาน ก่อนที่คุณจะขายอะไรคุณต้องคิดก่อนว่าขายใคร แต่ถ้าคุณขายรองเท้าแล้วคุณบอกว่า ลูกค้าคุณคือ ‘คนที่ต้องการซื้อรองเท้า’ คุณก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างชัดเจน หากคุณมีสินค้าหรือธุรกิจอยู่แล้วแนะนำให้ลองทำแบบสอบถามลูกค้าดู หรือถ้าคุณกำลังพิจารณาสร้าง Value Proposition ของสินค้าหรือธุรกิจใหม่คุณก็อาจจะต้องมีการสำรวจตลาดมากหน่อย

2.เปลี่ยนความต้องการให้กลายเป็นการแก้ปัญหา
ในการทำธุรกิจปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าลูกค้าหนึ่งคนอาจจะมีหลายความต้องการ และหนึ่งความต้องการก็มีวิธีแก้หลายอย่าง

ขั้นตอนแรกก็คือการเขียนปัญหาต่างๆรอบตัวลูกค้าหลักเรา…ในบริบทของสินค้าหรือธุรกิจที่เราทำอยู่ (คนที่ต้องการซื้อรองเท้า อาจจะต้องการคู่มือคำแนะนำในการแต่งตัวด้วย หรืออาจจะกังวลเรื่องอายุการใช้งาน)

ให้ลองเขียนความต้องการของลูกค้าออกมาอย่างน้อย 3-5 อย่างก่อน หากคุณหาได้น้อยก็ให้กลับไปคุยกับลูกค้าใหม่ หรือหากคุณหาได้เยอะมากไปก็ให้หาวิธีรวมปัญหาของลูกค้าเข้าด้วยกัน (เช่นลูกค้าอาจจะต้องการรองเท้าที่ ‘ทั้งดูดีและราคาถูก’)

3.สร้าง Value Proposition ที่ลูกค้าต้องการ (หลายอัน)
ขั้นตอนนี้คือการสรุปข้อมูล สิ่งที่เราอยากจะได้ในส่วนนี้ก็คือ ชื่อกลุ่มลูกค้า และ value proposition ต่างๆที่ลูกค้าต้องการ เช่น ลูกค้าผู้ชายวัยทำงาน อยากจะได้ 1) รองเท้าราคาหลักพัน 2) ใส่เดินได้นาน 2-3 ชั่วโมงไม่ปวดเท้า 3) ดูดีใส่ไปได้หลายงาน 4) วิธีการเลือกรองเท้าให้ถูกงาน

หากคุณทำการศึกษาตลาดมาดีการสร้าง Value Proposition ส่วนนี้ไม่ยากเท่าไร แต่ปัญหาที่เรามักเจอกันก็คือ นักการตลาดหลายคนไม่ได้สามารถควบคุมการผลิตหรือจัดซื้อสินค้าของตัวเองได้ ทำให้ไม่สามารถควบคุมการนำเสนอ value proposition ได้ (เช่นถูกบังคับให้ขายสินค้านี้กับตลาดนี้เท่านั้น)

ในส่วนนี้ วิธีขายช่วงแรกก็คือพยายามทำให้ดีที่สุดก่อน ดูว่ากลุ่มลูกค้าที่เรารับผิดชอบอยู่ชอบอะไรเป็นพิเศษ แล้วก็พยายามจี้จุดนี้ไป อย่างไรก็ตามในระยะยาว เราควรหาวิธีเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเราด้วย (เพิ่ม value proposition)

4.วัดผล Value Proposition
หากมาถึงขั้นตอนนี้ คุณก็อาจจะมี value proposition หลายอย่าง (และถ้าคุณเริ่มด้วยการมีหลายกลุ่มลูกค้า ปัจจัยต่างๆของคุณก็จะเยอะมาก)

หากคุณทำการตลาดแบบดั้งเดิม คุณก็อาจจะต้องทำแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ลูกค้าอีกรอบว่า value proposition นี้เหมาะสมจริงหรือเปล่า หรือถ้าคุณเป็นธุรกิจที่อยู่ในโลกออนไลน์บ้าง คุณก็สามารถทำการทดสอบผ่านการยิงโฆษณาด้วย value proposition ต่างๆ

ถ้าเราเอาตัวเลขมาเปรียบเทียบกันเราก็จะรู้ว่าลูกค้าตอบสนองกับอะไรมากกว่า

5.ตรวจช่องทางการสื่อสารทุกอย่างของคุณ
ขั้นตอนสุดท้ายก็คือการปรับช่องทางการสื่อสารทุกอย่างให้เหมาะกับ Value Proposition หลักของเรา

หมายถึงคำพูดของพนักงาน คำที่เขียนในสื่อพิมพ์ คำที่เขียนในเว็บไซต์ และคำที่เขียนในโฆษณาต่างๆ ทุกช่องทางต้องที่จุดปัญหาเดียวกัน ผ่านข้อความหลักที่เหมือนกัน (เช่น เราแก้ปัญหา A ให้กับ ‘ชื่อกลุ่มลูกค้า’)

ในส่วนนี้ การสร้าง value proposition ก็สำคัญพอๆกับ ‘วิธีการสื่อสาร’ ถึงแม้ว่าสินค้าที่ดีจะสามารถขายได้ด้วยตัวเองแต่หากคุณไม่สามารถทำการตลาดและการขายเพื่อจี้จุดลูกค้าได้ ในช่วงแรกสินค้าคุณก็อาจจะขายไม่ออก หากคุณคิดว่าสินค้าคุณตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการแล้ว ให้ลองกลับไปพัฒนากระบวนการการตลาดดูอีกที

ที่มา เพจ BUSINESS PLUS
----------------------------------------
The HR Consult
บริการด้านงานทรัพยากรบุคคลครบวงจร
☎️02-8215354 / 081-2792442